053-776-000

ข่าวกิจกรรม

เปิดแหล่งเรียนรู้พืชเศรษฐกิจ ดอกคาโมมายล์ ตั้งแต่เรียนรู้การเพาะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว การกลั่น การสกัด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากดอกคาโมมายล์ด้วยนาโนเทคโนโลยี

วันที่ 22-23 มีนาคม 2568

สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ ร่วมมือกับ บริษัทนาอีฟ อินโนว่า จำกัด และ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอบแห้ง ศรีดอนมูล จัดกิจกรรม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก” ให้กับผู้สนใจดอกคาโมมายล์จากหลายภาคส่วน ทั้งวิสาหกิจชุมชน ภาคธุรกิจ บริษัท ร้านค้า ภาครัฐ มหาวิทยาลัยจากจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา รวมกว่า 30 ราย

โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ เปิดกิจกรรมในการยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอบแห้ง ตำบลศรีดอนมูล และพืชเศรษฐกิจ ดอกคาโมมายล์ สู่การเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการผลิตดอกคาโมมายล์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ดำเนินงานยุทธศาสตร์ฯ ของมหาวิทยาลัย

เรียนรู้ดอกคาโมมายล์แบบครบวงจร

คุณวีรวัฒน์ ปินทรายมูล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอบแห้ง และเกษตรกรผู้ปลูก ได้ถ่ายทอด วิธีการปลูก การดูแล เก็บเกี่ยวผลผลิต และวิธีการอบแห้งดอกคาโมมายล์ให้ได้คุณภาพ พร้อมลงพื้นที่ชมแปลงปลูก ทดลองเก็บดอกคาโมมายล์ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการเพาะปลูก การผลิตดอกคาโมมายล์ให้ได้คุณภาพก่อนส่งจำหน่ายและนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดูแลภายนอก อีกทั้งยังสนใจซื้อดอกคาโมมายล์เก็บสด ผลิตภัณฑ์ชาดอกคาโมมายล์อบแห้ง 100%

ดร.ธีรพงศ์ ยะทา ผู้บริหารบริษัท นาอีฟอินโนว่า จำกัด ได้ถ่ายทอดความรู้นาโนเทคโนโลยี วิธีการกลั่น กระบวนการสกัดดอกคาโมมายล์ให้ได้สารสำคัญที่มีมูลค่าสูง (สารสีน้ำเงินเข้ม) ด้วยเครื่องมือสกัดและเทคโนโลยีนาโน อีกทั้งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลผิวด้วยส่วนผสมนาโนเทคโนโลยีจากสารสำคัญของดอกคาโมมายล์ ทั้ง Cleansing Milk, Toner, Facial Mist และ Plant-based Milk ซึ่ง ดร.ธีรพงศ์ เห็นว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่จะส่งเสริมพืชเศรษฐกิจดอกคาโมมายล์ สร้างรายได้ให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานพืชดอกไม้จังหวัดเชียงรายเป็นอย่างยิ่ง

ในการนี้ อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ ได้กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนายกระดับแหล่งเรียนรู้พืชเศรษฐกิจดอกคาโมมายล์ และเกษตรกรผู้ปลูกให้เป็นนวัตกรชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ ทักษะการเพาะปลูกดอกคาโมมายล์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อีกทั้งเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอบแห้งได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับเพาะปลูก การจำหน่ายดอกคาโมมายล์กับผู้ประกอบการภายนอก ทั้งนี้มหาวิทยาลัยฯ วางเป้าหมายว่า พื้นที่ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสนจะเป็นแหล่งเรียนรู้พืชเศรษฐกิจดอกคาโมมายล์ที่สำคัญ สร้างรายได้เศรษฐกิจให้ชุมชน และรองรับการเป็นเมืองสุขภาพของจังหวัดเชียงราย โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมต่อไป

การอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนด้านการพัฒนาเมืองแม่สาย เพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย

วันที่ 12 และ 13 มีนาคม 2568 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธ์ศาสตร์ฯ ดำเนินการจัดกิจกรรม อบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนด้านการพัฒนาเมืองแม่สาย เพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ณ โรงเรียนเทศบาล 1 วัดพรหมวิหาร ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย

โดยกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนด้านการพัฒนาเมืองแม่สาย เพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้มีแกนนำเยาวชนต้นแบบด้นการพัฒนาเมืองแม่สาย พัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนดังกล่าว ให้มีความเข้าใจ ทักษะ ทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาเมืองแม่สายด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมบนฐานทรัพยากรชุมชน และเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีมของแกนนำเยาวชนต่อโครงการพัฒนาเมืองแม่สาย เพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทุกช่วงวัย

ในช่วงเช้าบรรยายเชิงปฏิบัติการ “ทุนชุมชนทางประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมเมืองแม่สาย” โดยนายสมพล ธาตุอินจันทร์ รองปลัดเทศบาลตำบลแม่สาย  ซึ่งได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เรื่องเล่า ภาษา อาหาร ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของแม่สาย และลำดับถัดไปเป็นการบรรยายเชิงปฏิบัติการ “หลักการสืบค้นทุนชุมชนโดยใช้เครื่องมือศึกษาชุมชน” โดย อาจารย์วรัญญา พรหมสาขา ณ สกลนคร โปรแกรม แขนงวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้แบ่งกลุ่มให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้ และสืบค้นทุนชุมชนโดยใช้เครื่องมือศึกษาชุมชนจากที่วิทยากรได้ให้ความรู้ไป และนำมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลในการพัฒนาเมืองแม่สายบนฐานทุนชุมชน และได้ให้กลุ่มแกนนำเยาวชนในแต่ละกลุ่ม นำข้อมูลที่วิเคราะห์มาได้นำเสนอให้กับวิทยากร และผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฟัง

โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทางสำนักฯ ได้รับเกียรติจาก นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย เป็นประธานในการเปิดการอบรม อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นผู้กล่าวรายงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม และมีกลุ่มแกนนำเยาวชน เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 44 คน คณะผู้บริหารจากสำนักงานเทศบาลตำบลแม่สาย คณะครูจากโรงเรียนในพื้นที่ตำบลแม่สาย และบุคลากร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายที่ มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 78 คน          

การประชุมติดตามโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดยอาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย จัดกิจกรรมประชุมติดตามโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ณ ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2568 ไตรมาสที่ 1และ 2

โดยมีหัวหน้าโครงการฯ จากคณะ/หน่วย เข้าร่วมรายงานโครงการที่สำคัญทั้งสิ้น จำนวน 9 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก หน่วยงานดำเนินโครงการทั้งสิ้น จำนวน 7 คณะ 1 หน่วยงาน โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ หน่วยงานดำเนินโครงการทั้งสิ้น จำนวน 4 คณะและโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 7 โครงการ หน่วยงานดำเนินโครงการทั้งสิ้น จำนวน 3 คณะ 3 หน่วยงาน

การรายงานในภาคเช้าประกอบไปด้วยโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ คณะ/หน่วยงานได้ดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัด โดยใช้ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญตามองค์ความรู้ของคณะและบูรณาการไขว้ศาสตร์ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและเครือข่ายความร่วมมือจากภายนอกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุตามเป้าหมาย

ในภาคบ่ายเป็นการรายงานโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ประกอบไปด้วยโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชนน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โครงการพัฒนานวัตกรทางการศึกษาเพื่อพัมนาท้องถิ่นโดยใช้สมรรถนะเป็นฐาน โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก โครงการชุมชนดิจิทัล (Digital Community) เพื่อรองรับสังคมศตวรรษที่ 21 โครงการพัฒนาสมรรถนะภาษาอังกฤษเพื่อการยกระดับชุมชนสู่สากล โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน โครงการยกระดับนวัตกรรมชุมชนด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม

ในการรายงานติดตามครั้งนี้ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดี เป็นประธานการประชุมติดตามโครงการยุทธศาสตร์ฯ และที่ปรึกษาอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณิดา ปิงเมือง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ลี้ตระกูลร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยุทธศาสตร์ราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี 2568

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยุทธศาสตร์ราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี 2568 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งมีกำหนดการตรวจเยี่ยมระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2568

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายที่วัดเวียงเชียงรุ้ง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินงานในหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มมูลค่าอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผ้าปักของชาติพันธุ์อิ้วเมียน ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ด้านสังคมด้วยการส่งเสริมระบบสุขภาพจิต ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการพัฒนาทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน และด้านการศึกษา โดยโครงการชุมชนดิจิทัล(Digtal Community) เพื่อรองรับสังคมศตวรรษที่ 21

ภายหลังจากการตรวจเยี่ยมโครงการต่างๆ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ยังได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่รวบรวมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่ไว้อย่างครบถ้วน

Chiang Saen Soft Power Fun Run

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการฯ นำบุคลากรสำนักฯ เข้าร่วมกิจกรรม เดิน วิ่ง ริมฝั่งโขง ยลโฉมเมืองโบราณเชียงแสน Chiang Saen Soft Power Fun Run 2025 โดยมีนายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน เป็นประธานเปิดกิจกรรม ณ ลานหน้าที่วาการอำเภอเชียงแสน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรงและนำเสนอความสวยงามทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณสถานและความเป็นเมืองชายแดนของเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อำเภอเชียงแสนริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งมีเส้นทางรอบเมืองโบราณระยะ 6 กิโลเมตร

ติดตามผลการเพาะปลูกแตงโมอินทรีย์

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการฯ ลงพื้นที่ติดตามความคืบผลความคืบหน้าการเพาะปลูกแตงโมอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมอกกำปอ ต.แม่ไร่ อำเภอแม่จัน จ.เชียงราย หลังได้ทำการส่งเสริม ให้ความรู้และเทคนิควิธีการเพาะปลูกแตงโมโดยกระบวนการอินทรีย์ ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า ผลผลิตแตงโมที่ได้ทำการส่งเสริมไปนั้นได้ผลผลิตดี และได้มีรูปแบบแตงโมเพื่อเป็นสินค้าใหม่ที่จะส่งออกตลาดเป็นแตงโมรูปทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองการดูแลให้ผลผลิตเป็นไปตามที่ต้องการและมีคุณภาพ

ประชุมเตรียมชี้แจงการรายงานผลการดำเนินงาน

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดี จัดประชุมเตรียมชี้แจงการรายงานผลการดำเนินงานยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 1 โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก และ โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ 4 ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ประจำปี 2567 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ลี้ตระกูล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณิดา ปิงเมือง ที่ปรึกษาอธิการบดี และหน่วยงานเข้าร่วมประชุม ได้แก่ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเทคโนโลยีดิจิทัล และสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมข้อมูลนำเสนอผลงานและการจัดบูธแสดงผลงานของโครงการทั้ง 4 ประเด็นสำคัญ ซึ่งจะมีการจัดแสดงและนำเสนอผลงานให้เกิดขึ้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ณ วัดเวียงเชียงรุ้ง อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย

อบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพความเข้าใจการบริหารหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ EF ให้นักเรียน สำหรับครูโรงเรียน ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย

วันที่ 28 กุมภาพันธ์และวันที่ 1 มีนาคม 2568 สำนักยุทธศาสตร์การพัมนาท้องถิ่นและบริการวิชาการนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ฯ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพความเข้าใจการบริหารหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ EF ให้นักเรียน สำหรับครูโรงเรียน ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สายภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ให้แก่ครูโรงเรียนสังกัดเทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและผู้บริหาร บุคลากรเทศบาลตำบลแม่สาย จำนวน 100 คน กิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพความเข้าใจของครูโรงเรียนสังกัดเทศบาลตำบลแม่สายในการบริหารหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ EF นักเรียนในสังกัดเทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ EF ของนักเรียนระหว่างครูโรงเรียนสังกัดเทศบาลตำบลแม่สายกับครูโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ในภาคเช้าผู้เข้าร่วมอบรมได้เดินชมการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตทุกช่วงระดับชั้นและแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดกิจกรรมของนักเรียนทุกช่วงวัย ภาคบ่ายได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรจากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นำโดยอาจารย์ทัศนีย์ การเร็ว  รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต บรรยายในหัวข้อ “หลักสูตรสถานศึกษาสู่แผนการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมทักษะ EF”ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมอบรมเป็นอย่างดี รวมไปถึงการฝึกปฏิบัติการ “การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมทักษะ EF” (แบ่งกลุ่มตามความสนใจ) โดยให้คณะครูได้แบ่งกลุ่มเพื่อทำแผนจัดการเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ นำไปฝึกให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นและความรับผิดชอบ มีการจดจ่อใส่ใจ มีสมาธิต่อเนื่อง จดจ่อในสิ่งที่ทำ และในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ การจัดการกับอารมณ์ และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม มีความมั่นคงทางอารมณ์ รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ทบทวนการกระทำ และสะท้อนผลการกระทำของตัวเองได้ แก้ไขเมื่อพบข้อบกพร่อง และปิดท้ายด้วยการนำเสนอการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมทักษะ EF ของแต่ละสถานศึกษาด้วย

โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทางสำนักยุทธศาสตร์ฯ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นประธานในการเปิดการอบรม อาจารย์ ดร.เฉลิมเกียรติ ตุ่นแก้ว  ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียง เป็นผู้กล่าวต้อนรับคณะครู คณะผู้บริหารจากสำนักงานเทศบาลตำบลแม่สาย และบุคลากรที่เข้าร่วมอบรม

อบรมการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้า


เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดย อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ฯ ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการด้านการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการ

การฝึกอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในการจัดทำสื่อที่เหมาะสมต่อผลิตภัณฑ์ของตนเอง และเน้นย้ำความสำคัญของภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคเกิดความจดจำต่อสินค้า

กิจกรรมนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญลักษณ์ ศุภพลธร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมความรู้และทักษะที่สำคัญให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการได้อย่างยั่งยืน

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างได้รับความรู้และทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สินค้าและบริการของตนมีความโดดเด่นและเป็นที่จดจำของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

การปลูกแตงโมอินทรีย์ให้มีคุณภาพ

วิสาหกิจชุมชนมอกกำปอ ตำบลแม่คำ อำเภอเม่จัน จังหวัดเชียงราย อบรมเชิงปฏิบัติการการเพาะปลูกแตงโมระบบอินทรีย์โดยมีวิทยากร คุณปริชาติ ทองบัวร่วง ที่ปรึกษาเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลให้กับเกษตรกรภาคเหนือและภาคอีสานและเจ้าของบริษัท เชียงราย ออร์แกนิค เฮ้าส์ จำกัด บรรยายแนวทางให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ

การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการเพาะปลูกแตงโมอินทรีย์ให้มีคุณภาพวิทยากรได้บรรยายให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก ได้แก่ ปฏิทินการเพาะปลูก การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม และการใช้สารชีวภัณฑ์ต่างๆ เพื่อควบคุมโรคทางการเกษตรก่อนให้เกษตรกรได้ลงมือปฏิบัติจริงในแปลง

อบรมเชิงปฏิบัติการ”การพัฒนานวัตกรทางการท่องเที่ยวและบริการ ด้วยอัตลักษณ์ชุมชน ตำบลป่าตาล”

วันที่ 23 ธันวาคม 2567 สำนักยุทศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดย อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการฯ จัด จัดกิจกรรม อบรมเชิงปฏิบัติการ”การพัฒนานวัตกรทางการท่องเที่ยวและบริการ ด้วยอัตลักษณ์ชุมชน ตำบลป่าตาล”

โดยมีวัตถุประสงค์ให้วิสาหกิจชุมชนในตำบลป่าตาลได้เรียนรู้หลักการเป็นนักเล่าเรื่องชุมชน เพื่อบอกเล่าเรื่องราววิถีชุมชนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สถานที่สำคัญ กิจกรรมที่เชื่อมโยงต่อวิสาหกิจชุมชนของตน เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการรองรับและให้บริการนักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจ โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย

ในกิจกรรมภาคเช้าเป็นการบรรยายและฝึกปฏิบัติการหลักปฏิบัติงานของนักเล่าเรื่องชุมชน โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แนะนำกิจกรรมที่เป็นจุดเด่นในวิสาหกิจชุมชนของตนเอง สถานที่สำคัญในตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล

จากนั้นในช่วงบ่ายนายหาญศักดิ์ พวงจักรทา รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าตาลและเจ้าหน้าที่ ได้นำวิทยากรพร้อมด้วยผู้อำนวยการฯ และบุคลากรสำนักยุทธศาสตร์ฯ ลงพื้นที่เพื่อกำหนดจุดสำคัญในการวางแผนเส้นทางการท่องเที่ยวตำบลขุนตาล

การฝึกอบรมในครั้งมีได้รับเกียรติจากอาจารย์รักติบูล จันทนุปาน อาจารย์สังกัดโปรแกรมวิชาการท่องเที่ยว คณะคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมเป็นวิทยากรฝึกอบรม

อบรมเชิงปฏิบัติการ “พลิกโฉมแบรนด์ด้วยพลัง AI”

วันที่ 21 ธันวาคม 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น จัดกิจกรรม อบรมเชิงปฏิบัติการ “พลิกโฉมแบรนด์ด้วยพลัง AI” ณ ม่อนฮัก ณ เชียงแสน ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์สัชฌุเศรษฐ์ เรืองเดชสุวรรณ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น เป็นวิทยากรฝึกอบรม

กิจกรรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะแห่งอนาคตเกี่ยวกับการประกอบการให้แก่ผู้ประกอบการได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการตลาดในยุคสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ AI เป็นกลไกในการสื่อสารทางการตลาด

ในการอบรมผู้เข้าร่วมอบรมได้ฝึกปฏิบัติการเขียน Content การสื่อความหมายที่สำคัญด้วยการใช้เครื่องมือ AI ในการกระตุ้นสร้างความสนใจการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ลูกค้า

การหนุนเสริมศักยภาพกลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลสู่การเป็นนวัตกรชุมชนดอยงาม

วันที่ 18-19 ธันวาคม 2567  สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ จัดกิจกรรมการหนุนเสริมศักยภาพกลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลสู่การเป็นนวัตกรชุมชนดอยงาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหนุนเสริมศักยภาพการเลี้ยงปลานิลให้ให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลบ้านท่าดอกแก้วให้ได้คุณภาพมาตรฐานอินทรีย์ และนำความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาการเลี้ยงปลานิล ตลอดจนสร้างนวัตกรชุมชนในการถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงปลานิลในแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงปลานิล ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

กิจกรรมในครั้งนี้กลุ่มผู้เลี้ยงปลานิล บ้านท่าดอกแก้ว ตำบลดอยงาม ได้เดินทางไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการเลี้ยงปลานิลตั้งแต่กระบวนการบริหารจัดการกลุ่มอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เคล็ดลับการทำประมงอินทรีย์ และการทำตลาดออนไลน์อย่างง่ายสำหรับชุมชน ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย คุณพิชญภา ณรงค์ชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการบรรยายและสาธิตกิจกรรมฐานต่างๆ เช่น การผลิตอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุน การแปรรูปปลานิล แนวทางการปฏิบัติที่ดีในการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เป็นต้น หลังจากจบกิจกรรมผู้เข้าร่วมได้เกิดเป็นเครือข่ายเพื่อผลิตปลานิลอินทรีย์โดยมีวิทยากรให้ความอนุเคราะห์เป็นพี่เลี้ยงแนะนำการเลี้ยงปลาให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด

ซึ่งตลอดกิจกรรมผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดี อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการร่วมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดกลุ่มต่อไป

ประชุมพัฒนาหลักสูตรปลานิลครบวงจร

วันที่ 17 ธันวาคม 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ จัดประชุมพัฒนาหลักสูตรปลานิลครบวงจร โดยมีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และผู้แทนจากหน่วยงาน นายวิทยา มะสะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดเชียงราย นางสาวสุรีวรรณ์ สุริยวงศ์ นักพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลดอยงาม รวมทั้งสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลบ้านท่าดอกแก้ว เข้าร่วมประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนจากการทำงานถ่ายทอดองค์ความรู้และยกร่างเป็นหลักสูตรที่จะพัฒนาแหล่งเรียนรู้ปลานิลเศรษฐกิจให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมในการให้บริการผู้สนใจความรู้เกี่ยวกับปลานิล โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดีเป็นประธานในที่ประชุมและอาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย พร้อมด้วยบุคลากรสำนักยุทธศาสตร์ เข้าร่วมประชุม ณ ร้านอาหารภูพันธ์

ประชุมวางแผนกิจกรรม Rally พัฒนาเมืองเชียงแสน เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และพื้นที่เชื่อมโยงอุทยานธรณีเชียงรายตามอัตลักษณ์ชุมชน ตำบลเชียงแสน อำเภอเชียงแสน

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมวางแผนพัฒนาเมืองเชียงแสน เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และพื้นที่เชื่อมโยงอุทยานธรณีเชียงรายตามอัตลักษณ์ชุมชน ตำบลเชียงแสน อำเภอเชียงแสน ในการจัดประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลเชียงแสน ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการร้านค้า ห้างร้านและโรงแรมในพื้นที่ อีกทั้ง ได้รับความอนุเคราะห์จาก รองศาสตราจารย์ ดร.ฟ้ารุ่ง สุรินา บุญทิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาจารย์อนันต์ รูปงาม หัวหน้าสาขาวิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายร่วมกันออกแบบกิจกรรมแรลลี่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองเชียงแสน

การประชุมเชิงปฏิบัติการ การวางแผนการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรชุมชนสู่การเป็นแหล่งส่งเสริมสุขภาพชุมชน ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดย อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา ปินตาคำ ประธานสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ การวางแผนการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรชุมชนสู่การเป็นแหล่งส่งเสริมสุขภาพชุมชน ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย ณ ห้องประชุม เทศบาลตำบลพญาเม็งราย

ในการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ การวางแผนการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรชุมชนสู่การเป็นแหล่งส่งเสริมสุขภาพชุมชน ในครั้งนี้ได้ดำเนินการวางแผนงานและชี้แจงเพื่อหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการจัดกิจกรรม DayCare การดูแลผู้สูงอายุ และการวางแผนพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรชุมชนสู่การเป็นแหล่งส่งเสริมสุขภาพชุมชน ผลการดำเนินกิจกรรม สำนักยุทธศาสตร์ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจพื้นที่และวางแนวทางร่วมกับผู้บริหาร เทศบาลตำบลพญาเม็งราย นักพัฒนาชุมชน กลุ่มงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลพญาเม็งราย ในการเพาะปลูกสมุนไพรชุมชนสู่การส่งเสริมสุขภาพชุมชม ณ วัดม่อนป่ายาง

การประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนพัฒนาเมืองเชียงแสน เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และพื้นที่เชื่อมโยงอุทยานธรณีเชียงรายตามอัตลักษณ์ชุมชน ตำบลเชียงแสน อำเภอเชียงแสน

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดย อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการฯ อาจารย์ ดร. กษิรา ภิวงศ์กูร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีดิจิทัลและบุคลากรสำนักยุทธศาสตร์ฯ ดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนพัฒนาเมืองเชียงแสน เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์ และพื้นที่เชื่อมโยงอุทยานธรณีเชียงรายตามอัตลักษณ์ชุมชน ตำบลเชียงแสน อำเภอเชียงแสน ณ วัดผ้าขาวป้าน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
กิจกรรมภาคเช้า ผู้ประกอบการร้านอาหารรถเข็นริมโขง จำนวน 13 ราย เข้าร่วมการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นปฏิบัติการเตรียมความพร้อม “การยกระดับอัตลักษณ์อาหารริมน้ำโขงเพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (รถเข็นขายอาหาร) ตำบลเชียงแสน อำเภอเชียงแสน ซึ่งผลการดำเนินกิจกรรมได้รูปแบบรถเข็นอาหารในการยกระดับ เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และพื้นที่เชื่อมโยงอุทยานธรณีเชียงรายตามอัตลักษณ์ชุมชน และเมนูอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงแสนเพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยว
กิจกรรมภาคบ่าย ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการโรงแรม ภาคประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 27 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นการจัดทำแผนกิจกรรมแรลลี่ เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และพื้นที่เชื่อมโยงอุทยานธรณีเชียงรายตามอัตลักษณ์ชุมชน ตำบลเชียงแสน อำเภอเชียงแสน ซึ่งผลการดำเนินกิจกรรมได้แผนจัดรูปภาพกิจกรรมแรลลี่ เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และพื้นที่เชื่อมโยงอุทยานธรณีเชียงรายตามอัตลักษณ์ชุมชน ตำบลเชียงแสน อำเภอเชียงแสน

อบรมเชิงปฏิบัติการการจัดแสดงและนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชน

การอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดแสดงและนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้มีทักษะและเข้าใจวิธีการการจัดแสดงและนำเสนอผลิตภัณฑ์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร คุณนครินทร์ ยาโน หรือคุณเก่ง ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าปักมือดีไซน์เก๋ Yano เป็นวิทยากร และคุณชูเกียรติ เวสารัชชพงศ์” หรือ “คุณโต” เจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์ใบชา “สวรรค์บนดิน” (Sawanbondin) ให้แรงบันดาลใจและชี้ให้เห็นความสำคัญของการออกแบบการจัดแสดงผลิตภัณฑ์นำไปสู่การสร้างความหมายให้แก่สินค้าและความประทับใจของลูกค้า กิจกรรมจัดขึ้น ณ ร้านชา สวรรค์บนดิน

กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาหลักสูตรปลานิลเศรษฐกิจชุมชนโดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคเครือข่าย ตำบลดอยงาม อำเภอพาน

วันที่ 28 ตุลาคม 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดย อาจารย์ ดร.ชฎาพัฐศ์ สุขกาย ผู้อำนวยการฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ กนกวรรณ ปลาศิลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ ลงพื้นที่โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาหลักสูตรปลานิลเศรษฐกิจชุมชนโดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคเครือข่าย ณ แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงปลานิลบ้านท่าดอกแก้ว ตำบลดอยงาม อำเภอพานจังหวัดเชียงราย

การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาหลักสูตรปลานิลเศรษฐกิจชุมชนและหาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรปลานิลเศรษฐกิจชุมชนโดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคเครือข่าย ผลลัพธ์การดำเนินกิจกรรมสมาชิกกลุ่มปลานิลสามารถเป็นนวัตกรชุมชนและได้เรียนรู้บทบาทในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้ามาเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ พร้อมกับแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรและความร่วมมือของเครื่อข่ายภายในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย

อบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลตอบแทนทางสังคม SROI

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ จัดกิจกรรมอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลตอบแทนทางสังคม ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมอบรม โดยมีคณาจารย์จากทุกคณะที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ และคณะดำเนินงานขับเคลื่อนนวัตกรสังคม จำนวนทั้งสิ้น 60 คน เข้าร่วมอบรมเพื่อเรียนรู้แนวคิด แนวทาง วิธีการคำนวณการประเมินผลกระทบทางสังคม SROI ซึ่งในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.วารัชต์ มัธยมบุรุษ รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลกระทบทางสังคม SROI เป็นวิทยากร

อบรมเชิงปฏิบัติการ “ถ่ายทอดนวัตกรรมปลานิล : เศรษฐกิจชุมชนด้วยหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต พื้นที่ตำบลดอยงาม”

วันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นำโดยอาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ถ่ายทอดนวัตกรรมปลานิล : เศรษฐกิจชุมชนด้วยหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต พื้นที่ตำบลดอยงาม” ณ แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงปลานิล หมู่ที่ 5 บ้านท่าดอกแก้ว ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

กิจกรรมดังกล่าวมีผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 45 คน โดยวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ได้รับเกียรติจากนายวิทยา มะสะ นักวิชาการประมงชำนาญการ จากสำนักงานประมงจังหวัดเชียงราย ถ่ายทอดข้อกำหนดมาตรฐาน GAP ปลานิล และการยื่นคำขอเพื่อขอรับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม ผศ.ประเสริฐ ไวยะกา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคุณพรสวรรค์ ผลมาก วิทยากรชุมชนบรรยายและฝึกปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพน้ำบ่อเลี้ยงปลานิล ผศ.ดร.จรัญ คนแรง อาจารย์นเรศ ใหญ่วงศ์และคณะจากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ร่วมกับคุณสรชัย ผลมากวิทยากรชุมชน ฝึกปฏิบัติการสร้างนวัตกรรมกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ได้รับเกียรติจาก รศ.มาลี หมวกกุล ผศ.กนกวรรณ ปลาศิลาและคณะจากคณะสังคมศาสตร์ ฝึกปฏิบัติการแปรรูปอาหารจากปลานิล และผศ.ดร.สุภัทรณี เปี่ยมสุวรรณกิจ ร่วมกับคุณสุทัศน์ อุตตา วิทยากรชุมชน ร่วมถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติการทำบอลลูนแก๊ส

ซึ่งผลการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทักษะตามหลักสูตรที่หน่วยงานได้จัดกิจกรรมและผู้ที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาปลานิลน็อคน้ำ

สัมมนาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อการสอนที่มีรากฐานจากทุนวัฒนธรรมชุมชนของนักเรียนและครูในโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอยงาม

วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ลี้ตระกูล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณิดา ปิงเมือง ที่ปรึกษาอธิการบดี พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการ และบุคลากรสำนักยุทธศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มร.ชร. นำโดย อาจารย์ ดร. อดิเทพ วงค์ทอง ผู้อำนวยการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภาพร เตวิยะ และอาจารย์ จรูญ แดนนาเลิศ รองผู้อำนวยการ ที่ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อการสอนที่มีรากฐานจากทุนวัฒนธรรมชุมชนของนักเรียนและครูในโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอยงาม ณ อบต.ดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรากฐานจากทุนวัฒนธรรมชุมชน อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และสื่อการสอนที่มีรากฐานจากทุนวัฒนธรรมชุมชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ขอขอบคุณ ผศ.จิราพร มะโนวัง สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ คณะสังคมศาสตร์, อาจารย์ชญานิน วังตาล โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มร.ชร. และคุณศุภชัย ศรีธิ ผู้เชี่ยวชาญด้าศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์วัดแม่สรวยหลวง ที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในครั้งนี้
ในนามมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ขอขอบคุณ นายสุพิศ สมยาราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอยงาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร อบต.ดอยงามทุกท่าน ที่เอื้ออำนวยในการจัดกิจกรรมในพื้นที่ตำบลดอยงาม
ขอขอบคุณ คณะผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนดอยงามวิทยาคม โรงเรียนบ้านสิบสอง และโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลดอยงาม (สันช้างตาย) ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี