วันที่ 22-23 มีนาคม 2568
สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ ร่วมมือกับ บริษัทนาอีฟ อินโนว่า จำกัด และ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอบแห้ง ศรีดอนมูล จัดกิจกรรม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก” ให้กับผู้สนใจดอกคาโมมายล์จากหลายภาคส่วน ทั้งวิสาหกิจชุมชน ภาคธุรกิจ บริษัท ร้านค้า ภาครัฐ มหาวิทยาลัยจากจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา รวมกว่า 30 ราย
โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แก้วตาติ๊บ เปิดกิจกรรมในการยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอบแห้ง ตำบลศรีดอนมูล และพืชเศรษฐกิจ ดอกคาโมมายล์ สู่การเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการผลิตดอกคาโมมายล์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ดำเนินงานยุทธศาสตร์ฯ ของมหาวิทยาลัย
เรียนรู้ดอกคาโมมายล์แบบครบวงจร
คุณวีรวัฒน์ ปินทรายมูล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอบแห้ง และเกษตรกรผู้ปลูก ได้ถ่ายทอด วิธีการปลูก การดูแล เก็บเกี่ยวผลผลิต และวิธีการอบแห้งดอกคาโมมายล์ให้ได้คุณภาพ พร้อมลงพื้นที่ชมแปลงปลูก ทดลองเก็บดอกคาโมมายล์ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการเพาะปลูก การผลิตดอกคาโมมายล์ให้ได้คุณภาพก่อนส่งจำหน่ายและนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดูแลภายนอก อีกทั้งยังสนใจซื้อดอกคาโมมายล์เก็บสด ผลิตภัณฑ์ชาดอกคาโมมายล์อบแห้ง 100%
ดร.ธีรพงศ์ ยะทา ผู้บริหารบริษัท นาอีฟอินโนว่า จำกัด ได้ถ่ายทอดความรู้นาโนเทคโนโลยี วิธีการกลั่น กระบวนการสกัดดอกคาโมมายล์ให้ได้สารสำคัญที่มีมูลค่าสูง (สารสีน้ำเงินเข้ม) ด้วยเครื่องมือสกัดและเทคโนโลยีนาโน อีกทั้งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลผิวด้วยส่วนผสมนาโนเทคโนโลยีจากสารสำคัญของดอกคาโมมายล์ ทั้ง Cleansing Milk, Toner, Facial Mist และ Plant-based Milk ซึ่ง ดร.ธีรพงศ์ เห็นว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่จะส่งเสริมพืชเศรษฐกิจดอกคาโมมายล์ สร้างรายได้ให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานพืชดอกไม้จังหวัดเชียงรายเป็นอย่างยิ่ง
ในการนี้ อาจารย์ ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ ได้กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนายกระดับแหล่งเรียนรู้พืชเศรษฐกิจดอกคาโมมายล์ และเกษตรกรผู้ปลูกให้เป็นนวัตกรชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ ทักษะการเพาะปลูกดอกคาโมมายล์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อีกทั้งเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอบแห้งได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับเพาะปลูก การจำหน่ายดอกคาโมมายล์กับผู้ประกอบการภายนอก ทั้งนี้มหาวิทยาลัยฯ วางเป้าหมายว่า พื้นที่ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสนจะเป็นแหล่งเรียนรู้พืชเศรษฐกิจดอกคาโมมายล์ที่สำคัญ สร้างรายได้เศรษฐกิจให้ชุมชน และรองรับการเป็นเมืองสุขภาพของจังหวัดเชียงราย โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมต่อไป